ไวรัสโคโรน่า(โควิด-19) ‘สายพันธุ์ใหม่’ คืออะไร?
โรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มีชื่อว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) – ‘CO’ มาจากคำว่า Corona, ‘VI’ มาจาก Virus, และ ‘D’ มาจาก Disease ที่แปลว่า ‘โรค’ โดยก่อนหน้านี้เราเอ่ยถึงโรคดังกล่าวว่า ‘โรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019’ หรือ ‘2019-nCoV’
ไวรัสโควิด-19 เป็นไวรัสชนิดใหม่ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับตระกูลของไวรัสที่เป็นต้นเหตุของโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome – SARS) หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง รวมทั้งโรคหวัดธรรมดาบางประเภท Severe acute respiratory syndrome coronavirus (SARs-CoV-2) คือเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่
เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้อย่างไร
เชื้อไวรัสถ่ายทอดผ่านการสัมผัสโดยตรงกับฝอยละออง (Droplet) จากลมหายใจของผู้ติดเชื้อ (ที่เกิดจากการไอและจาม) การสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน ไวรัส COVID-19 อาจอยู่รอดบนพื้นผิวเป็นเวลาหลายชั่วโมง แต่ก็ถูกทำลายได้ด้วยสารฆ่าเชื้อทั่วไป
โรคไวรัสโคโรน่ามีอาการอย่างไร
อาการของโรคที่มีรายงาน ได้แก่ มีไข้ ไอ และหายใจหอบ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีโรคปอดอักเสบ หรือหายใจลำบากร่วมด้วย และอาจถึงขั้นเสียชีวิตแต่พบไม่บ่อยนัก
อาการดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคหวัดธรรมดาซึ่งพบได้บ่อยกว่าโควิด-19 และนี่คือเหตุผลที่จะต้องทำการทดสอบเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ทั้งนี้ โรคเหล่านี้ใช้หลักเดียวกันในการป้องกัน นั่นก็คือการล้างมือบ่อย ๆ และดูแลสุขอนามัยทางเดินหายใจ (ไอ-จามใส่ข้อพับแขนด้านใน หรือบนกระดาษทิชชูและทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิด) ปัจจุบันนี้มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว คุณและลูกจึงควรได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนอยู่เสมอ
ฉันจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้อย่างไร
ข้อควรปฏิบัติ 4 ประการ เพื่อป้องกันตนเองและครอบครัวจากการติดเชื้อ
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือทำความสะอาดด้วยเจลล้างมือที่ผสมแอลกอฮอล์
- ปิดปากและจมูกขณะไอหรือจาม โดยไอหรือจามลงใส่ข้อพับแขนด้านในหรือบนกระดาษทิชชู และทิ้งกระดาษที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่มีฝาปิด และล้างมือให้สะอาด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการคล้ายหวัดหรือไข้หวัดใหญ่
- ไปพบแพทย์หากมีไข้ ไอ หรือรู้สึกหายใจลำบาก
ฉันควรสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่
คุณควรสวมหน้ากากอนามัยหากมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ (ไอหรือจาม) เพื่อเป็นการปกป้องผู้อื่น ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการใด ๆ ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย
ในกรณีที่ต้องสวมหน้ากากอนามัย คุณควรสวมให้ถูกต้องเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน และถอดทิ้งอย่างถูกวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัส และล้างมือให้สะอาดหลังถอดหน้ากากทิ้งด้วย
นอกจากนี้ ควรคำนึงว่าการใช้หน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะหยุดการติดเชื้อได้ แต่ต้องใช้ร่วมกับการล้างมือบ่อย ๆ ระมัดระวังขณะไอหรือจาม พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการคล้ายหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ (ไอ จาม มีไข้)
โควิด-19 มีผลกระทบต่อเด็กหรือไม่
โควิด-19 เป็นไวรัสชนิดใหม่ที่เรายังมีข้อมูลไม่มากพอถึงผลกระทบของเชื้อไวรัสชนิดนี้ที่มีต่อเด็กหรือสตรีมีครรภ์ เราทราบว่ามีความเป็นไปได้ที่คนทุกช่วงวัยสามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ แต่จนถึงปัจจุบันนี้ก็มีรายงานการติดเชื้อโควิด-19ในเด็กเพียงไม่กี่ราย ทั้งนี้มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้น้อยมาก โดยส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยอื่น ๆ อยู่ก่อนแล้ว
ฉันควรทำอย่างไรหากลูกมีอาการของโรคโควิด-19
คุณควรไปพบแพทย์ อย่างไรก็ดี ช่วงนี้เป็นฤดูไข้หวัดใหญ่ในซีกโลกเหนือ และอาการของโรคโควิด-19 เช่นไอหรือมีไข้นั้นคล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้หวัดธรรมดาหรือโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งพบบ่อยกว่ามาก
ล้างมือเป็นประจำ และปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ และแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ
และเช่นเดียวกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่นไข้หวัดใหญ่ เมื่อคุณหรือลูกมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ และหลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่สาธารณะ (ที่ทำงาน โรงเรียน ขนส่งสาธารณะ) เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
ฉันควรทำอย่างไร เมื่อสมาชิกครอบครัวแสดงอาการ
หากคุณหรือลูกมีไข้ ไอ หรือหายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ คุณควรแจ้งผู้ให้บริการด้านสุขภาพทราบล่วงหน้าหากคุณได้เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือมีการติดต่อใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เหล่านั้นและมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ
ฉันควรให้ลูกหยุดเรียนหรือไม่
หากลูกมีอาการ ควรพาลูกไปพบแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หรือปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่นไข้หวัดใหญ่ คือให้ลูกพักผ่อนที่บ้านขณะที่มีอาการ และหลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่สาธารณะเพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปยังผู้อื่น
กรณีที่ลูกของคุณไม่ได้มีอาการใด ๆ เช่น มีไข้หรือไอ และหากไม่มีการประกาศ คำเตือน หรือคำแนะนำด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ ที่ส่งผลกระทบต่อโรงเรียน เด็กควรไปเรียนหนังสือตามปกติ
คุณควรสอนเด็กให้ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยในการดูแลความสะอาดของมือและด้านทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหรือสถานที่อื่น ๆ เช่นการล้างมือบ่อย ๆ (ดูด้านล่าง) ไอหรือจามลงบนข้อพับแขนด้านในหรือบนกระดาษทิชชูแล้วทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิด ตลอดจนไม่สัมผัสตา ปาก หรือจมูกของตนหากยังไม่ได้ล้างมืออย่างถูกวิธี
วิธีล้างมือที่ถูกต้อง
- ขั้นตอนที่ 1: ล้างมือให้เปียกด้วยน้ำที่ไหลจากก๊อก
- ขั้นตอนที่ 2: ถูมือด้วยสบู่ในปริมาณที่มากเพียงพอ
- ขั้นตอนที่ 3: ถูมือให้ทั่ว รวมทั้งหลังมือ ซอกนิ้ว และใต้เล็บ เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที
- ขั้นตอนที่ 4:ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำที่ไหลจากก๊อก
- ขั้นตอนที่ 5: เช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาดหรือกระดาษที่ใช้แล้วทิ้ง
ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หลังสั่งน้ำมูก ไอ หรือจาม และเมื่อใช้ห้องน้ำ
หากไม่มีสบู่และน้ำ ใช้เจลล้างมือที่มีปริมาณแอลกอฮอล์อย่างน้อย 70% ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งที่เห็นว่ามือสกปรกอย่างชัดเจน
สตรีมีครรภ์ถ่ายทอดไวรัสไปยังเด็กในครรภ์ได้หรือไม่
ในเวลานี้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่รระบุว่า เชื้อไวรัสจะถูกถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์หรือไม่ หรือส่งผลกระทบใดต่อลูกในครรภ์ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ สตรีมีครรภ์จึงควรปฏิบัติตามข้อควรระวังต่าง ๆ เพื่อป้องกันตนเองจากการสัมผัสเชื้อไวรัส และไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ หรือหายใจลำบาก
การให้นมลูกขณะที่แม่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ปลอดภัยหรือไม่
แม่ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและมีอาการไอ มีไข้ หรือหายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์ พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์
เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการที่น้ำนมแม่ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในการแพร่เชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่น ๆ แม่จึงสามารถให้นมลูกต่อไปได้โดยปฏิบัติตามข้อควรระวังที่จำเป็นทั้งหมด
สำหรับแม่ที่มีอาการ แต่แข็งแรงพอที่จะให้นมลูกได้ แม่จะต้องสวมหน้ากากเมื่ออยู่ใกล้ลูก (รวมถึงระหว่างให้นมลูก) ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสกับลูก (และขณะให้นมลูก) รวมทั้งทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ปนเปื้อน โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีผู้ที่ป่วยหรือสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 มีการติดต่อสัมผัสกับผู้อื่นรวมถึงเด็ก
หากแม่ป่วยเกินกว่าจะให้นมได้ ควรปั๊มนมและให้ลูกดื่มผ่านถ้วยและ/หรือช้อนที่สะอาด โดยปฏิบัติตามวิธีป้องกันการติดเชื้อแบบเดียวกัน
อ้างอิงเอกสารเผยแพร่ยูนิเซฟ: คู่มือครูสำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19
shorturl.at/tzCY8